หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา การรักษา เทคโนโลยี บริการ ทันตแพทย์ ค่าบริการทันตกรรม เกร็ดความรู้ ติดต่อเรา

ทันตกรรมเพื่อความงาม

ฟันเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของใบหน้าที่ช่วยให้เกิดความสวยงาม โดยเฉพาะในขณะที่ยิ้มแย้มและหัวเราะ การแก้ไขฟันส่วนที่ไม่ชวนมอง เช่น ฟันด่าง ฟันเหลือง ฟันดำ ฟันตกกระ ฟันห่าง สีวัสดุอุดฟันที่ต่างจากสีของฟันอย่างชัดเจน และอื่น ๆ จึงช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี มีรอยยิ้มที่สวยสดใส และเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เป็นเจ้าของฟันอย่างเห็นผลชัดเจนโดยใช้เวลาไม่นานนัก
ทันตกรรมเพื่อความงาม จึงเป็นการสร้างรอยยิ้มที่สวยงามชวนมองและประทับใจให้กับผู้รับบริการด้วยวิธีการทางทันตกรรมต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ ดังนี้

  • การฟอกสีฟัน (teeth  whitening)

ในปัจจุบันฟันที่ขาว แวววาว สดใส สะอาด สวยงามกำลังเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งของบุคคลทุกคนและทุกระดับ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและในกลุ่มวัยทำงานอย่างมาก ทางคลินิกจึงมีบริการฟอกสีฟันให้ขาวสดใสโดยให้บริการฟอกสีฟันที่คลินิกเพียงครั้งเดียวภายในเวลา 1ชั่วโมงเท่านั้น หรือจะให้ทางคลินิกพิมพ์ถาดสำหรับฟอกสีฟันเพื่อนำกลับไปทำเองที่บ้านในช่วงเช้าระหว่างทำงานบ้าน อ่านหนังสือ หรือก่อนนอนก็ได้  เช่นกัน
ซูม ไวท์เทนนิ่ง (Zoom! Whitening)

ระบบการฟอกสีฟันระดับมืออาชีพที่ช่วยทำให้รอยยิ้มของท่านขาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 8 เฉด ภายใน 45 นาที
Zoom! ใช้เทคโนโลยีลิขสิทธิ์เฉพาะของสหรัฐอเมริกาในการฟอกสีฟันอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อยและต้องการเห็นผลอย่างชัดเจนภายในเวลาไม่นานนัก

• ขั้นตอนการทำงานของ Zoom! เริ่มต้นโดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ปกปิดผิวหนังรอบปาก ริมฝีปาก ตลอดจนเหงือกให้พ้นจากการถูกแสง โดยเหลือเว้นไว้เพียงบริเวณผิวหน้าของฟันที่ต้องการฟอกสีเท่านั้น

• จากนั้นทันตแพทย์จะทาเจลที่ได้รับการออกแบบมาให้ทำงานควบคู่กับแสงจากเครื่อง Zoom! เพื่อกระตุ้นให้  เจลแตกตัวและปล่อยสารที่มีคุณสมบัติกำจัดสีซึมผ่านเข้าไปในเนื้อฟัน เพื่อฟอกสีฟันให้ขาวขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลอย่างรวดเร็ว

• ผลของการฟอกสีฟันนี้จะคงอยู่ได้นานเพียงใด ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาภายหลังการฟอกสีฟัน พฤติกรรมในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ชนิดของอาหารและเครื่องดื่มที่นิยมรับประทาน และการสูบบุหรี่ แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ได้นานประมาณ 2 ปี
 


คุณประโยชน์ของการฟอกสีฟัน

  • แก้ไขปัญหาฟันที่มีสีคล้ำ สีน้ำตาล สีเหลือง และมีคราบต่างๆบนฟัน ให้มีความขาวมากขึ้น
  • สามารถทำได้ในบุคคลทั่วไป
  • สามารถปรับปรุงรอยยิ้มให้มีฟันขาวสว่าง เงางาม เป็นประกาย ช่วยให้ดูสดใสมากยิ่งขึ้น

การดูแลรักษาภายหลังการฟอกสีฟัน

  • ควรทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเป็นการเริ่มวินัยที่ดีในการดูแลสุขภาพปากและฟันซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง
  • ควรทำความสะอาดด้วยไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง
  • ควรทำการบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยทำกลั้วน้ำยาและอมไว้ในปากอย่างน้อย 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารภายใน 30 นาทีหลังการบ้วนปาก
  • ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน

.

คำถามที่ถูกถามบ่อย (Frequently Asked Questions)

Q:

Zoom! Teeth Whitening คืออะไร

A:

Zoom! คือ ระบบการขจัดสีฟันหรือคราบที่เกิดขึ้นในผิวฟันและเนื้อฟันให้หมดไปหรือจางลง ทำให้ฟันขาวขึ้นจากเนื้อฟันเอง

Q:

อะไรเป็นสาเหตุให้ฟันมีสีหมองคล้ำ

A:

มีหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้น การรับประทานอาหารที่มีสีติดบนผิวฟันได้ง่าย เช่น ชา กาแฟ ไวน์แดง น้ำอัดลมบางชนิด เป็นต้น การสูบบุหรี่ หรือการได้รับยาต้านจุลชีพบางชนิด เช่น Tetracycline ระหว่างการสร้างเนื้อฟัน หรือการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปก็อาจทำให้ฟันเหลืองคล้ำได้

Q:

ใครเหมาะที่จะทำการฟอกสีฟัน

A:

บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป ผลของการฟอกสีฟันอาจจะแตกต่างกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสีฟันเดิม โดยทันตแพทย์ของท่านจะตรวจและให้คำแนะนำ

Q:

การฟอกสีฟันเป็นที่นิยมมากหรือไม่

A:

เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากการมีรอยยิ้มที่ขาวสว่างสดใสเป็นประกายสร้างความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดและทำให้ผู้พบเห็นเกิดความประทับใจกับรอยยิ้มและย่อมส่งผลถึงบุคลิกภาพโดยรวมทั้งหมดอีกด้วย  ระบบการทำงานของ Zoom! ก็รวดเร็วเพียง 45 นาทีเท่านั้น ซึ่งสามารถมาทำได้ในช่วงเวลาที่สะดวก เช่นในช่วงพักกลางวัน เป็นต้น

Q:

การฟอกสีฟันปลอดภัยหรือไม่

A:

ปลอดภัยแน่นอน จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่า การฟอกสีฟันภายใต้การแนะนำดูแลของทันตแพทย์นั้นปลอดภัยที่สุด อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ฟอกสีฟันในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14  ปี และในสตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร

Q:

ผลของการฟอกสีฟัน จะอยู่ได้นานแค่ไหน

A:

ภายหลังการฟอกสีฟันแล้ว ผลจะอยู่ได้นานตราบเท่าที่คุณคอยดูแลเอาใจใส่รักษาฟันเป็นอย่างดี และปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ อย่างไรก็ตามสามารถทำการฟอกสีฟันเพิ่มเติม (Touch Up)  เพื่อให้ฟันของคุณขาวอยู่เสมอด้วย DayWhite หรือ NiteWhite สำหรับฟอกสีฟันเองที่บ้าน ซึ่งจะยิ่งทำให้ฟันของคุณขาวตลอดเวลา

Q:

ผู้รับการฟอกสีฟันสามารถทำอะไรได้บ้างในระหว่างที่ได้รับการทำ Zoom!

A:

ควรนอนหงายหลังในท่าสบาย ผ่อนคลาย หลับตาฟังเพลงหรือชมรายการโทรทัศน์ ยกเว้นบางรายที่มีปัญหาบางอย่าง เช่น ไอ หรือ สะอึก ไม่เหมาะที่จะทำการฟอกสีฟันด้วยวิธีนี้

Q:

เราจะป้องกันอวัยวะส่วนอื่นไม่ให้ถูกแสงได้อย่างไร

A:

ทันตแพทย์จะทำการปกปิดผิวหนังและเหงือกไว้ให้พ้นจากแสง ยกเว้นเพียงส่วนของฟัน โดยจะมีอุปกรณ์ป้องกันรอบปาก สวมแว่นตากันแสง ทาครีมกันแดดรอบปากและใต้จมูก ปกปิดเนื้อเยื่อทุกส่วนภายในปากและเหงือกและรอบ ๆ ฟันให้มิดชิด สำหรับผู้ที่มีความไวต่อแสงรวมทั้งผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง ผู้รับยาบางชนิดที่ไวต่อแสง ควรหลีกเลี่ยงหรือขอคำแนะนำจากทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน บางรายอาจไม่เหมาะต่อการฟอกสีฟันด้วย Zoom! แต่อาจเหมาะที่จะใช้ระบบ Take Home DayWhite หรือ NiteWhite ซึ่งเป็นชนิดนำกลับไปทำที่บ้านแทน

Q:

ใช้ระยะเวลาในการฟอกนานแค่ไหน

A:

ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ในการฟอกสีฟัน โดยจะใช้เวลาเล็กน้อยในการปกปิดเนื้อเยื่อต่างๆ รอบปากและใช้เวลาอีก 45 นาทีในการฉายแสง

Q:

มีอาการข้างเคียงหรือไม่

A:

บางคนอาจมีอาการเสียวฟันได้ แสงจาก Zoom! อาจจะทำให้รู้สึกอุ่นเล็กน้อย



• การอุดฟัน
 Dental Fillings

การอุดฟันเป็นวิธีการรักษาทางทันตกรรมสำหรับผู้ป่วยที่มีฟันผุหรือบิ่น โดยทันตแพทย์จะทำการซ่อมแซมบริเวณนั้นด้วยวัสดุอุดฟันชนิดต่างๆ เช่น วัสดุอมัลกัม และวัสดุเรซินสีเหมือนฟัน
แต่เดิมวัสดุอุดฟันไม่มีให้เลือกมากนัก เรามักใช้วัสดุอมัลกัม [amalgam] ซึ่งมีสีเงิน เป็นตัวหลักในการอุดฟัน แต่ในปัจจุบันวัสดุอุดฟันได้มีการพัฒนามากขึ้น นอกจากคำนึงถึงคุณภาพของวัสดุที่ต้องแข็งแรงแล้ว ความสวยงามก็เป็นสิ่งจำเป็น เราจึงเลือกใช้วัสดุสีเหมือนฟันเพื่อเพิ่มความสวยงามมากขึ้น
การอุดฟันโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามชนิดของวัสดุที่ใช้ดังนี้

  • การอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม
  • การอุดฟันด้วยวัสดุเรซินสีเหมือนฟัน

ขั้นตอนการอุดฟันด้วยวัสดุเรซินสีเหมือนฟัน

  • ขั้นการตรวจวินิจฉัยและการกรอฟันที่ผุออก
    • เนื้อฟันที่ผุและติดเชื้อได้รับการกรอทิ้งไป
    • การเตรียมพื้นที่ฟันเพื่อการอุด
  • ขั้นตอนการอุดฟัน
    • ทันตแพทย์จะทำการใส่วัสดุเรซินสีเหมือนฟัน สลับกับการฉายแสงให้วัสดุแข็งตัวเป็นชั้นๆ
    • หลังจากได้รับการอุดเต็มพื้นที่แล้ว ทันตแพทย์จะทำการกรอแต่งให้ได้รูปร่างที่เหมาะสมตามต้องการ
    • ทันตแพทย์จะทำการขัดวัสดุให้มีความเงางามแลดูเป็นเนื้อเดียวกันกับฟันตามธรรมชาติ

      แต่เดิมวัสดุอุดฟันไม่มีให้เลือกมากนัก เรามักใช้ วัสดุอมัลกัม [amalgam] ซึ่งเป็นวัสดุสีเงินเป็นหลักในการอุดฟัน ในปัจจุบันนี้วัสดุอุดฟันได้มีการพัฒนามากขึ้น นอกจากคำนึงถึงคุณภาพของวัสดุที่ต้องแข็งแรงแล้ว ความสวยงามก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เราจึงเลือกใช้วัสดุเรซินที่มีสีเหมือนฟันเพื่อเพิ่มความสวยงามมากขึ้น

 


ข้อเปรียบเทียบในการใช้วัสดุอมัลกัม และวัสดุเรซินสีเหมือนฟัน ในการอุดฟัน

การอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม

เป็นการนำวัสดุอมัลกัมที่มีสีเงิน ซึ่งมีส่วนประกอบของสารปรอทในการอุดฟัน

ข้อดี

  • อายุการใช้งานนานกว่า : ประมาณ 10 - 15 ปี หรือมากกว่า
  • มีความแข็งแรง : สามารถรองรับแรงบดเคี้ยวได้อย่างดี
  • ราคา : จะต่ำกว่าการอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน

ข้อเสีย

  • ความสวยงามน้อย :
    เนื่องจากมีสีที่ไม่เหมือนฟันตามธรรมชาติ
  • การสูญเสียเนื้อฟันมากกว่าที่ควร :
    เนื่องจากการอุดด้วยวัสดุอมัลกัมนั้นต้องใช้พื้นที่กว้างในการรองรับวัสดุเพื่อการบูรณะ
  • การเปลี่ยนสีของฟัน :
    วัสดุอมัลกัมอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนสีของเนื้อฟันรอบ ๆ วัสดุอุดให้เป็นสีเทาเงิน
  • อาการแพ้สารปรอท :
    น้อยมาก ประมาณ 1% ของผู้รับบริการที่มีอาการแพ้สารปรอทที่เป็นส่วนผสมอยู่ในวัสดุอมัลกัม

การอุดฟันด้วยวัสดุเรซินสีเหมือนฟัน

เป็นการนำวัสดุเรซินที่มีสีเหมือนฟันตามธรรมชาติมาใช้เป็นวัสดุในการอุดฟัน

ข้อดี

  • มีความสวยงาม : สามารถเลือกสีที่เหมือนฟันได้
  • มีคุณประโยชน์หลายด้าน : สามารถใช้วัสดุเรซินในการตกแต่งและบูรณะฟันที่บิ่นแตกหรือหักให้กลับมามีรูปร่างดีและสวยงามดังเดิม
  • สามารถรักษาเนื้อฟันได้มากกว่า : เนื่องจากการอุดด้วยเรซินสามารถทำได้ด้วยการกรอเนื้อฟันที่เสียออกเท่านั้น ขณะที่การอุดด้วยอมัลกัมต้องกรอเนื้อฟันมากกว่าที่ผุจริงเพื่อรองรับวัสดุอมัลกัม

ข้อเสีย

  • อายุการใช้งาน : อาจไม่นานเท่าการใช้วัสดุอมัลกัม
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษานานกว่า : เนื่องจากวิธีการที่ซับซ้อนกว่า
  • การแตกของวัสดุ : ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่อุด
  • ราคา : สูงกว่าการอุดด้วยอมัลกัม บางครั้งอาจสูงถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับการอุดด้วยอมัลกัม

อาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการรักษา

โดยทั่วไป การอุดฟันหรือการเปลี่ยนวัสดุอุดนั้นสามารถทำได้ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ในเวลาสั้นๆ
ดังนั้นอาการต่างๆ เช่น การเสียวฟันภายหลังการรักษาจึงแทบไม่พบหรือเกิดขึ้นได้น้อยมาก
การอุดฟันหลายบริเวณสามารถกระทำให้แล้วเสร็จได้ภายในวันเดียวกัน แต่สำหรับผู้ป่วยที่มี
จำนวนฟันที่ต้องรับการอุดจำนวนมากนั้นอาจต้องทยอยอุดฟันไปจนครบทุกซี่

การดูแลรักษาภายหลังการอุดฟัน

  • ควรทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเป็นการเริ่มวินัยที่ดีในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง
  • ควรทำความสะอาดด้วยไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง
  • ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ก่อนเข้านอนทุกวัน โดยกลั้วน้ำยาบ้วนปากและอมไว้ประมาณ 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารภายใน 30 นาทีหลังจากนั้น
  • ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและเข้ารับการขัดฟันขูดหินปูนเป็นประจำทุก 6 เดือน
  • ในกรณีที่มีอาการเสียวฟันหรือปวดฟัน หรือมีการแตกและหลุดของวัสดุอุดฟัน ควรพบทันตแพทย์ทันที


  • การทำครอบฟัน และสะพานฟัน

การครอบฟัน ประกอบด้วยครอบฟันที่ครอบยึดบนฟันซี่ข้างเคียงเพื่อความมั่นคง และมีครอบฟันตัวลอย (pontic) เป็นตัวเชื่อมระหว่างกลางเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป
สะพานฟัน ประกอบด้วยครอบฟันที่ครอบยึดบนฟันซี่ข้างเคียงเพื่อความมั่นคง และมีครอบฟันตัวลอย (pontic) เป็นตัวเชื่อมระหว่างกลางเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปและเป็นตัวเชื่อม ครอบฟัน ที่เกาะยึดบนฟันซี่ข้างเคียง
 

คุณประโยชน์ของสะพานฟัน

  • ช่วยให้มีรอยยิ้มที่สวยงามได้ดังเดิม
  • ช่วยให้มีการบดเคี้ยวและการออกเสียงที่ดีได้ดังเดิม
  • ช่วยรักษารูปหน้าให้เป็นไปตามปกติ
  • ช่วยกระจายแรงบดเคี้ยวให้เป็นไปตามปกติ
  • ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการรับแรงบดเคี้ยวที่มากเกินไปของฟันซี่ข้างเคียง
  • ช่วยให้หลีกเลี่ยงปัญหาการล้มของฟันซี่ข้างเคียงมายังช่องว่าง
  • ช่วยรักษาตำแหน่งและการทำงานของฟันให้เป็นไปตามธรรมชาติ
  • ช่วยรักษาการสบฟันให้เป็นไปตามปกติ

ข้อปฏิบัติหลังการเข้ารับการทำสะพานฟัน

การดูแลเอาใจใส่เพื่อสุขภาพของปากและฟันที่ดีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสะพานฟันสามารถมีอายุการใช้งานที่ยาวนานได้ต่อเมื่อฟันที่ใช้เป็นฐานรองรับสะพานฟันมีสุขภาพแข็งแรง

  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่แข็งภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังการติดยึดสะพานฟัน
  • สามารถหลีกเลี่ยงการบวมหรืออาการต่าง ๆ ได้ โดยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (เกลือ 1 ช้อนชา + น้ำอุ่น 1 แก้ว) อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง
  • ควรดูแลความสะอาดบริเวณที่ติดสะพานฟันเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเกิดโรคเหงือก
  • อาการเสียวฟันอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางท่าน โดยอาการดังกล่าวสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน ซึ่งถ้าเกิดอาการเสียวฟันผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้ :
    • หลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานอาหารที่ร้อน เย็นหรือมีความเป็นกรดสูง เช่นน้ำมะนาว นมเปรี้ยว เป็นต้น
    • การรับประทานยาแก้ปวดสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ระดับหนึ่ง
    • ควรเลือกใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่ประกอบด้วยสารฟลูออไรด์ในความเข้มข้นสูงซึ่งสามารถลดปัญหาการเสียวฟันได้
    • ควรทำความสะอาดอย่างถูกวิธี
  • ควรเริ่มด้วยการรับประทานอาหารอ่อน ๆ จนกว่าจะเคยชินกับสะพานฟันที่ติดอยู่

วิธีการดูแลรักษาภายหลังการทำสะพานฟัน

  • ควรทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเป็นการเริ่มวินัยที่ดีในการดูแลสุขภาพปากและฟัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง
  • ควรทำความสะอาดด้วยไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง
  • ควรบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยกลั้วน้ำยาและอมไว้ในปากนานอย่างน้อย 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารภายใน 30 นาทีหลังการบ้วนปาก
  • ควรให้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็งบริเวณสะพานฟัน
  • ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน
  • Inlays และ Onlays

การบูรณะฟันแบบ Inlays และ Onlays เป็นการบูรณะฟันโดยการสร้างวัสดุบูรณะให้เสร็จเรียบร้อยขึ้นเป็นชิ้นงานภายนอกช่องปาก โดยทำให้มีขนาดพอดีกับโพรงฟันที่เตรียมไว้ ทำให้สามารถถอดใส่ และลองวัสดุบูรณะได้ ทำให้สามารถทดสอบความแนบสนิทของวัสดุบูรณะกับผนัง และขอบของโพรงฟันที่กรอเตรียมไว้ก่อนที่จะทำการติดด้วยซีเมนต์ยึดต่อไปเพื่อความสวยงามจึงเป็นศาสตร์และศิลป์ขั้นสูงของงานทันตกรรม
การอุดฟันแบบ Inlays และ Onlays นั้นมีความคล้ายคลึงกับการอุดฟันโดยทั่วไป แต่เนื้อที่ที่จำเป็นต้องได้รับการอุดมีขนาดใหญ่มาก จึงไม่เหมาะสมกับวิธีการอุดฟันแบบธรรมดา ดังนั้นทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ใช้วิธีการอุดแบบ Inlays หรือ Onlays โดยการอุดฟันแบบ Inlays จะเป็นการอุดฟันด้านในของบริเวณฟันด้านนั้น ในขณะที่การอุดฟันแบบ Onlays จะมีวิธีการคล้ายคลึงกับการอุดฟันแบบ Inlays เพียงแต่จะมีพื้นที่ในการอุดมากกว่าแบบ Inlays โดยจะครอบคลุมหลายด้านและหลายมุมของฟัน

คุณประโยชน์ของการบูรณะฟันด้วย Inlays และ Onlays

  • เพิ่มความแข็งแรงให้แก่ฟันและมีความทนทานมากกว่าการอุดฟันแบบธรรมดา
  • เป็นอีกหนึ่งทางเลือกแทนการครอบฟันในกรณีที่ฟันมีปัญหาไม่มากนัก
  • วัสดุเซรามิกที่ใช้ในการทำ Inlays และ Onlays จะไม่มีการเปลี่ยนสีอันเนื่องมาจากอายุการใช้งานหรือคราบอาหาร
  • ให้ความสวยงามแลดูเป็นธรรมชาติกว่าการอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม

ประเภทของ Inlays และ Onlays

Inlays และ Onlays สามารถทำจากวัสดุต่างๆ เช่น เซรามิก ทอง และเรซิน โดย Inlays และ Onlays ที่ทำจากเซรามิกจะให้ความใสและสวยงามเป็นธรรมชาติ ขณะที่การทำด้วยทองจะมีความแข็งแรงและทนทานสูง
การบูรณะฟันแบบ Inlays เป็นวิธีการบูรณะที่วัสดุบูรณะมีขอบเขตอยู่ในตัวฟัน (intracoronal restoration)
การบูณะฟันแบบ Onlays เป็นการบูรณะที่วัสดุบูรณะที่มีทั้งส่วนที่อยู่ในตัวฟันและส่วนที่มีขอบเขตอยู่ผิวนอกของตัวฟัน (extracoronal restoration) โดยวัสดุที่นำมาใช่ทำ Inlays และ Onlays นั้นมีทั้งโลหะพอร์ซเลน และเรซินคอมโพสิต
ข้อดีของการบูรณะฟันแบบ Inlays และ Onlays
1. มีความสวยงาม มีสีใกล้เคียงฟันธรรมชาติ
2. มีความแข็งแรงกว่าการบูรณะด้วยการอุดฟันแบบธรรมดา (อุดโดยตรง)
3. ลดอัตราการเกิดการหดตัวของวัสดุที่ใช้ในการอุดภายหลังการฉายแสง ลดอาการเสียวฟันภายหลังการบูรณะ   ฟันหรืออาจไม่เกิดอาการเสียวฟันเลยก็ได้
4. มีอายุการใช้งานนาน
5. กรณีที่มีจำนวนฟันที่ต้องการบูรณะหลายซี่หรือมีขนาดใหญ่ สามารถเตรียมวัสดุพร้อมกันภายนอกช่องปาก จึงลดระยะเวลาที่ใช้ในการรักษา
6. สามารถขัดแต่งวัสดุได้ภายนอกช่องปาก จึงสามารถป้องกันความร้อนหรืออันตรายจากการกรอแต่งวัสดุในช่องปากได้

การรักษาด้วยการทำ Inlays และ Onlays
ขั้นตอนการรักษาด้วยการทำ Inlays และ Onlays

  • ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและการเตรียมฟัน
    • การฉีดยาชาบริเวณฟันซี่ที่จะรักษา
    • การกรอฟันให้มีรูปร่างที่เหมาะสม
    • การจดบันทึก สี ขนาด รูปร่างของฟันที่ต้องการ
    • การพิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลอง
    • แบบจำลองและรายละเอียดทั้งหมดจะถูกส่งไปยังห้องแลบเพื่อทำ Inlays หรือ Onlays
    • ทันตแพทย์จะทำการอุดฟันแบบชั่วคราวให้แก่ผู้ป่วยสำหรับใช้งาน
  • ขั้นตอนการติด Inlays หรือ Onlays
    • การรื้อวัสดุอุดแบบชั่วคราวออก
    • การติดยึด Inlays หรือ Onlays บนฟัน การตรวจเช็คและการปรับแต่งให้มีความเหมาะสมที่สุด
  • ขั้นตอนการดูแลรักษา

การทำ Inlays หรือ Onlays นั้นมีความคล้ายคลึงกับการอุดฟันโดยทั่วไป เพียงแต่วัสดุที่ใช้ในการทำ Inlays และ Onlays นั้นจะมีความแข็งแรงและทนทานมากกว่าวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันและการรักษาด้วยวิธีนี้จะก่อให้เกิดอาการเสียวฟันได้น้อยมาก

การดูแลรักษาหลังการทำ Inlays และ Onlays

  • ควรทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเป็นการเริ่มวินัยที่ดีในการดูแลสุขภาพปากและฟัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง
  • ควรทำความสะอาดด้วยไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง
  • ควรบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยกลั้วน้ำยาและอมไว้ในปากนานอย่างน้อย 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารภายใน 30 นาทีภายหลังการบ้วนปาก
  • ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็งบริเวณที่ได้รับการรักษา
  • ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน

.

  • การทำวีเนียร์ (Veneer) หรือเคลือบฟันเทียม (Facing)
  • การเคลือบผิวฟัน

 

 

การเคลือบผิวฟัน เป็นการนำวัสดุเซรามิกที่มีความบางเป็นพิเศษมาติดบนผิวฟันด้านหน้า ซึ่งสามารถช่วยป้องกันฟันที่มีผิวหน้าสึกกร่อนให้มีความแข็งแรงมากขึ้น รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาเรื่องรูปร่างหรือสีของฟันที่ไม่สวยงามได้อีกด้วย
การเคลือบฟันเทียม (Veneer or Facing)
การเคลือบฟันเทียม หรือ การทำวีเนียร์ (Veneer or Facing) เป็นทันตกรรมเพื่อความสวยงามที่สามารถแก้ไขความผิดปกติของรูปร่างฟัน สีฟัน รวมถึงการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติเล็กน้อย
การเคลือบฟันเทียม เป็นการฉาบผิวฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน สามารถทำได้ด้วยวัสดุ 2 ประเภท ได้แก่ คอมโพสิตเรซิน (Composite Rasin) และ พอร์ซเลน/เซรามิก (Porcelain/Ceramic) โดยมีการกรอแต่งผิวเคลือบฟันในปริมาณที่น้อยมากเพื่อนำวัสดุสีเหมือนฟันมาติดกับผิวด้านหน้าของฟัน

การเคลือบฟันเทียม จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถใช้แก้ไขสีฟันที่หมองคล้ำให้แลดูเหมือนสีฟันธรรมชาติได้ โดยสูญเสียเนื้อฟันน้อยกว่าการทำครอบฟัน วัสดุที่นิยมนำมาใช้ในงานเคลือบฟันเทียมได้แก่ เซรามิค และคอมโพสิตเรซิน

วัตถุประสงค์ในการทำเคลือบฟันเทียม

1. เพื่อปิดช่องว่างระหว่างฟันหน้าหลายๆซี่ ที่ห่างกันเพียงเล็กน้อย

before_after

.

.

.










2. เพื่อแก้ไขรูปร่างฟันที่ผิดปกติ
3. เพื่อรักษาฟันซึ่งเกิดการหักของฟันโดยไม่ทะลุโพรงประสาทฟัน
4. เพื่อแก้ไขฟันที่มีเคลือบฟันผิดปกติ
5. เพื่อแก้ไขฟันที่มีสีเข้มผิดปกติที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการฟอกสีฟัน


ฟันที่มีสีเข้มจากการได้รับยาเตตร้าไซคลิน ก่อนการรักษา


ฟันบนหลังการรักษา

ฟันบนและล่างหลังการรักษา

6. เพื่อแก้ไขฟันที่เรียงตัวผิดปกติไม่มาก

ก่อนการรักษา     
หลังการรักษา
ก่อนการรักษา
หลังการรักษา

 

การเคลือบผิวฟันด้วยวัสดุเซรามิกสีเหมือนฟัน หรือที่เรียกกันว่า “ วีเนียร์ ” นั้น เป็นการติดแผ่นเซรามิกที่มีความบางและใสบริเวณผิวด้านหน้าของฟันเพื่อแก้ไขปัญหาความผิดปกติของฟัน เช่น แก้ไขปัญหาฟันสีเทาที่เกิดจากยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น สารเตตร้าไซคลีน ฟันที่ถูกทำลาย เช่น ฟันที่ผุด้านหน้า ฟันกร่อน ฟันสึก หรือแตกหัก เป็นต้น ให้มีสีและขนาดที่สวยงาม รวมทั้งเพิ่มความแข็งแรงและทนทานให้แก่ผิวฟันอีกด้วย ทั้งนี้คราบสีต่างๆ เช่นคราบอาหาร คราบบุหรี่ ชา และกาแฟ จะไม่สามารถติดบนวัสดุเซรามิกที่ใช้ในการเคลือบผิวฟันได้

การเคลือบผิวหน้าฟันด้วยวัสดุพอร์ซเลนคืออะไร
แผ่นวีเนียร์คือแผ่นเซรามิก หรือพอร์ซเลนใสบางๆ (ประมาณ 0.5มม.) ที่ปิดเคลือบบนผิวด้านหน้าฟัน หลังจากที่มีการพิมพ์ฟันแล้ว พิมพ์นั้นจะถูกส่งไปยังห้องแลป เพื่อประดิษฐ์ชิ้นงานให้เหมาะสม และติดแน่นกับฟันแต่ละซี่ของคนไข้ โดยวิธีการยึดติดที่ถูกกำหนดมาเป็นพิเศษ การทำเคลือบผิวฟัน จะทำในส่วนฟันด้านหน้าที่มองเห็นได้ชัดเจน และด้วยการยึดแน่นแบบพิเศษนี้จะทำให้วัสดุเคลือบยึดติดกับเนื้อฟัน ไม่ทิ้งให้เกิดช่องว่าง หรือช่องห่างระหว่างฟัน และมีความสวยงามแบบธรรมชาติ

คุณประโยชน์ของการทำเคลือบฟันเซรามิก
ถ้าเปรียบเทียบกับการทำครอบฟันแบบดั้งเดิมนั้น การทำการเคลือบผิวฟันจะเป็นที่นิยมของคนทั่วไปมากกว่า เนื่องจากจะมีการสูญเสียเนื้อฟันน้อยกว่า นอกจากนี้ยังแข็งแรง ทนทาน และมีอายุการใช้งานที่นานกว่าด้วย
ถ้าพูดถึงด้านความสวยงามแล้ว การทำเคลือบผิวฟันจะมีความสวยงามที่เด่นชัดกว่าการทำครอบฟันโดยทั่วไป ทั้งนี้ ด้วยเอกลักษณ์ความบางของวัสดุเคลือบฟัน จึงทำให้สามารถติดไปบนหน้าฟันได้โดยไม่ต้องวางไว้ใต้เหงือกแต่อย่างใด

นอกจากนี้ โรคเหงือกต่างๆ หรือเหงือกร่น ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่มักจะเกิดจากการทำครอบฟัน ก็ไม่ใช่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับการรักษาด้วยวิธีเคลือบฟันวีเนียร์แต่อย่างใด
การทำเคลือบผิวฟันแบบวีเนียร์เป็นวิธีทางเลือกที่ยอดเยี่ยมและน่าสนใจที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความผิดปกติของฟันหน้า เช่น ฟันเรียงตัวไม่สวยงาม  การมีช่องห่างระหว่างฟัน หรือฟันเป็นคราบดำ

การเคลือบผิวฟันแบบวีเนียร์แก้ไขปัญหาประเภทใดได้บ้าง
-  ฟันดำ ด่าง หรือเปลี่ยนสี อาจจะเนื่องจากการรักษารากฟันหรือเกิดจากการใช้ยาเตตร้าไซคลิน หรือยาอื่นบาง  ชนิด ฟันที่ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป หรือฟันเปลี่ยนสีที่เกิดจากการอุดฟัน
-  ฟันผุ หรือฟันกร่อน
-  ฟันแตก หรือฟันบิ่น
-  ฟันที่เรียงตัวไม่สวยงาม ไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ผิดรูปร่าง หรือฟันไม่เรียบ
-  ฟันที่มีช่องห่างระหว่างกัน (ต้องการปิดรอยห่างระหว่างซี่ฟัน)
ข้อดีของการเคลือบผิวฟัน
-  ให้ความสวยงามแบบธรรมชาติ
-  ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเหงือกหรือเนื้อเยื่อใดๆ 
-  ไม่เกิดคราบต่าง ๆ และรอยด่างบนวัสดุเคลือบผิวฟัน
-  สามารถเลือกสีของฟันที่ต้องการได้ ซึ่งหากเดิมมีสีฟันที่หมองคล้ำก็จะเปลี่ยนเป็นฟันที่ขาวสะอาดได้
-  สามารถเลือกรูปร่างได้ตามต้องการ
โดยทั่วไปแล้ว การทำเคลือบผิวฟันไม่จำเป็นต้องกรอเนื้อฟันมากเหมือนกับการทำครอบฟัน ทั้งยังมีคุณสมบัติคงทนแข็งแรง และให้ความสวยงาม นอกจากนี้แล้วยังไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษใด ๆ เลยด้วย เพียงแต่ดูแลความสะอาดของช่องปาก ด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันตามปกติเท่านั้น

ข้อดีของการเคลือบผิวฟัน
-  โดยปกติแล้ว ท่านจะต้องมาพบทันตแพทย์สองครั้ง ครั้งแรกเพื่อรับคำปรึกษา การตรวจวิเคราะห์ การวางแผนและการจัดเตรียมงาน และครั้งที่สองเพื่อการใส่เคลือบฟัน
-  ในแต่ละครั้งจะมีการเตรียมงานหลายอย่าง เช่น ทันตแพทย์จะตรวจวิเคราะห์ฟันก่อน รวมถึงแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ กรอฟันและแต่งฟันก่อนเข้ารับการรักษา พิมพ์ฟันเพื่อทำแบบจำลอง ส่งแบบจำลองไปทำชิ้นส่วนวีเนียร์ ติดยึดเซรามิกบนผิวฟัน พร้อมฉายแสงรังสีเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ตรวจเช็คและปรับแต่งให้เหมาะสม
ขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์และวางแผนการรักษา
ทันตแพทย์จะสอบถามถึงความคาดหวังของท่าน และตรวจสภาพฟันเพื่อดูว่าเหมาะสมกับการทำเคลือบผิวฟันหรือไม่ นอกจากนี้ทันตแพทย์จะบอกถึงวิธีการทำและข้อจำกัดของการรักษา ทั้งนี้ทันตแพทย์อาจจะต้องถ่ายภาพเอกซเรย์ เพื่อประกอบการพิมพ์ปากและฟันของท่านด้วย
การเตรียมการรักษา ทันตแพทย์จะต้องกรอเนื้อฟันออกเล็กน้อย ประมาณ 0.5-1.9 มิลลิเมตร ซึ่งจะเท่ากับความหนาของตัวเคลือบฟัน เพื่อให้เคลือบฟันสามารถปิดทับลงไปได้พอดี แต่ก่อนการกรอผิวฟันนั้น ทันตแพทย์จะพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้ยาชาหรือไม่ และต่อจากนั้นจัดทำรูปแบบจำลองและพิมพ์ฟันของท่าน รูปแบบจำลองฟันนี้จะถูกส่งไปยังห้องแล็บของทางคลินิก เพื่อทำชิ้นส่วนเคลือบฟัน โดยปกติขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 5-7 วัน หลังการใส่เคลือบฟันแล้ว หากจำเป็นต้องมีการปรับแต่งใดๆ ทางทันตแพทย์จะไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
การติดเคลือบฟัน ก่อนการติดเคลือบฟันอย่างถาวรบนฟันของท่าน ทันตแพทย์จะทดลองวางดูว่าขนาดและสีเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งทันตแพทย์สามารถจัดแต่งรูปแบบหรือสีจนท่านพึงพอใจ ก่อนจะใส่เคลือบฟันเข้าไป ขั้นต่อไปคือการเตรียมฟันก่อนการใส่เคลือบฟัน ทันตแพทย์จะทำความสะอาด และขัดฟันของท่านเพื่อให้ฟันมีความหยาบเพื่อจะได้ติดแน่น และติดกาวชนิดพิเศษเพื่อให้ตัวเคลือบฟันยึดกับฟันอย่างแน่น เมื่อเข้าที่ดีแล้ว จะฉายคลื่นแสงลงไปบนตัวเคลือบฟัน เพื่อทำให้กาวนั้นทำปฏิกิริยาและแห้งเร็วขึ้น ขั้นตอนสุดท้ายคือการทำความสะอาดเนื้อกาวส่วนเกินออกให้หมด ทดสอบการกัดและการสบฟัน และปรับแต่งอื่นๆ ตามเหมาะสม

 

 
OUR TREATMENT


» ทันตกรรมทั่วไป

» ทันตกรรมจัดฟัน
» ทันตกรรมรากฟันเทียม
» ทันตกรรมเพื่อความงาม
» ทันตกรรมโรคเหงือก
» ทันตกรรมป้องกัน
» ศัลยกรรมช่องปาก
» ศัลยกรรมรักษารากฟัน

ที่อยู่
1239  อาคารสหกรณ์กรุงเทพ เอกมัย ชั้น G ถ.สุขุมวิท 63  แขวงคลองตันเหนือ  เขตวัฒนา  กทม. 10110

Copyright 2011 © Ekamai Dental Clinic. All Rights Reserved. Designed by khaijeaw.com
คลินิกทำฟัน คลีนิคจัดฟัน ทำฟัน ดัดฟัน อุดฟัน ฟอกสีฟัน ครอบฟัน รากฟันเทียม ผู้นำในด้านทันตกรรมจัดฟัน ทีมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จัดฟัน ดัดฟัน ครอบฟัน รากฟันเทียม