หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา การรักษา เทคโนโลยี บริการ ทันตแพทย์ ค่าบริการทันตกรรม เกร็ดความรู้ ติดต่อเรา


เกร็ดความรู้

• 12 สัญญาณของสุขภาพปาก และฟันที่ดี

12 ประการเรื่องสุขภาพปาก และฟันที่คุณต้องใส่ใจ หากไม่ดูแลอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่โรคต่างๆในช่องปากได้
- ฟันผุมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Mutans Streptococci ที่อยู่ในน้ำลายทำการย่อยสลายอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล ทำให้เกิดกรด ซึ่งเป็นสาเหตุของฟันผุ

- การสะสมของคราบพลัค(Plaque) เกิดจากแบคทีเรีย เศษอาหาร และคราบน้ำลาย ที่สะสมหนาตัวขึ้น รู้สึกได้โดยใช้ลิ้นถูไปมาตามผิวและซอกฟัน จะรู้สึกว่าฟันสากๆไม่ลื่น

- สุขภาพเหงือกนั้นสำคัญพอๆกับสุขภาพฟัน เพราะสุขภาพเหงือกไม่ดี อาจก่อให้เกิดโรคเหงือกต่างๆ เช่น เหงือกบวม เหงือกอักเสบ

- คราบหินปูนมีลักษณะขรุขระเป็นที่สะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งจะขับสารพิษออกมาทำให้เหงือกอักเสบ สามารถกำจัดได้ด้วยการได้รับการขูดหินน้ำลาย และขูดหินปูน

- คราบพลัคมักติดบนผิวฟัน ทำให้มีคราบขาวขุ่นเป็นสาเหตุต่อมาของโรคเหงือก และฟัน

- แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามรถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบได้ทุกหนทุกแห่ง แม้ในช่องปากและเป็นสาเหตุหลักของโรคต่างๆของปากและฟัน

- เคลือบฟันเป็นส่วนที่แข็งที่สุดของฟันคลุมอยู่รอบนอกสุดของตัวฟัน ทำหน้าที่เหมือนเกาะหุ้มฟันช่วยปกป้องอันตรายให้แก่ชั้นของเนื้อฟัน และเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน

- ฟันที่แปรงไม่สะอาดมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาพปาก และฟันได้

- รากฟันไม่แข็งแรงอาจเกิดจากฟันผุบริเวณรากฟันเหมือนเหงือกร่น ซึ่งยากต่อการทำความสะอาด

- การสูบบุหรี่และรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีสีประจำ จะมีการสะสมของสีบนผิวฟันที่ขรุขระเกิดเป็นคราบสีต่างๆ

- กลิ่นปากเกิดจากความไม่สะอาดของช่องปาก เศษอาหารที่ตกค้างบูดเน่าตามซอกฟัน หนองปลายรากฟัน เหงือกอักเสบ หรือแผลเรื้อรัง

- การมีลมหายใจสดชื่น จะช่วยให้เกิดความมั่นใจ เสริมสร้างบุคลิกภาพ และอนามัยที่ดี

• สาระความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆที่มีผลกับสุขภาพภายในช่องปาก

โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เป็นความผิดปกติของร่างกายแบบเรื้อรังสาเหตุจากการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเบาหวาน?
อาการปัสสาวะมาก กระหายน้ำมาก ตามัว ไม่มีแรง ผอมลงโดยไม่รู้สาเหตุแสดงถึงแนวโน้มว่าจะเป็นโรคเบาหวานควรตรวจหาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเพื่อยืนยัน โดยทำได้ 2 วิธีดังนี้
1. ตรวจที่เวลาใด ก็ตาม หากมีน้ำตาล 200 มก.% หรือมากกว่าวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
2. ตรวจเมื่ออดอาหารไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง หากมีน้ำตาล 126 มก.% หรือมากกว่า วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

การควบคุมป้องกันทำได้อย่างไร?
เมื่อยังไม่เป็นเบาหวาน ควรปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาพ ทำได้โดยปรับปรุงวิถีชีวิต คือ ออกกำลังกายให้มากขึ้น เดินให้มากขึ้น
ไม่อาศัยพาหนะ ถ้าทำได้ให้ระวังเรื่องอาหาร อาหารจานด่วน มักจะมีไขมันสูง รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ ไม่
อ้วน ไม่ผอม
ถ้าเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว เราสามารถช่วยสุขภาพของโรคหัวใจ และหลอดเลือดให้บรรเทาได้ โดยลดนำหนักตัวที่
มากเกินไปให้ต่ำลงมาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ละเว้นการสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพให้ได้
สมดุลกันคือ
- ลดอาหารที่มีไขมัน ลดอาหารเค็ม ลดขนมหวาน ลด ผลไม้หวาน
- รับประทานอาหารจำพวกที่มีใยอาหารมากๆ เช่น ผักชนิดต่างๆ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควบคุมรักษาความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดให้ดี

โรคปริทันต์

หมายถึงภาวะที่มีการอักเสบของอวัยวะปริทันต์ หรือเนื้อเยื่อรอบรากฟัน การอักเสบนี้จะส่งผลไม่เพียงแต่บริเวณที่
อักเสบ เท่านั้น แต่จะมีผลไปทั้งร่างกายด้วย
เมื่อคราบพลัค (หรือปัจจุบันเรียกว่า ไบโอฟิล์ม ) ที่สะสมบนผิวฟันมีปริมาณมากขึ้นจะเริ่มแผ่ขยายลงบริเวณใต้เหงือก
และปล่อยสารพิษมาทำลายเหงือกเกิดเป็นแผล ซึ่งเป็นทางผ่านให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดได้
เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะตอบสนองโดยหลั่งสารอักเสบซึ่งจะมีผลต่อระบบต่างๆ
ในร่างกายตามมา

โรคปริทันต์ กับโรคเบาหวาน
เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ ติดเชื้อง่าย และแผลหายช้าทำให้เนื้อเยื่อปริทันต์และกระดูกรอบรากฟันถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว
ในผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงเกิดภาวะปริทันต์อักเสบได้ง่าย และมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติ
ในทางกลับกันภาวะปริทันต์อักเสบจะส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานได้ง่าย
ดังนั้นการป้องกันโรคปริทันต์ กับโรคเบาหวานที่ดีที่สุด คือ การทำความสะอาดฟัน และเหงือกอย่างทั่วถึง เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย

• สาระความรู้เกี่ยวกับคำแนะนำภายหลังการฟอกสีฟัน

คำแนะนำในการดูแลรักษาฟันภายหลังการฟอกสีฟัน
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีสี เช่น ชา, กาแฟ, น้ำอัดลม, ไวน์แดง และอื่นๆ เป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากฟันที่เพิ่งได้รับการฟอกสีฟันมาจะสามารถดูดซึมสีได้ง่าย

- หลีกเลี่ยงอาหารที่เย็นหรือร้อนจัดเป็นเวลา 2 วัน เพราะอาจทำให้รู้สึกเสียวฟันได้

วิธีการดูแลรักษาฟันให้ขาวนานยิ่งขึ้น
1. ใช้ยาสีฟันเพื่อทำให้ฟันขาว(Whitening Toothpaste) เป็นประจำ
2. พบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดและขัดฟันทุก 3-4 เดือน
3. หลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีสี หรือสูบบุหรี่ ให้ดื่มน้ำเปล่าตามทุกครั้ง เพราะน้ำเปล่าสามารถช่วยล้างสีที่ผิวฟันได้

• สาระความรู้เกี่ยวกับคำแนะนำหลังผ่าฟันคุด
1.ไม่ควรรบกวนบริเวณแผล หลีกเลี่ยงการแตะแผลด้วยลิ้น , นิ้ว , ผ้าเช็ดหน้าต่างๆ หรืออื่นๆ
2.ห้ามถ่มน้ำลาย , เลือด หรือบ้วนน้ำ เนื่องจากผ้าก๊อซอาจขยับ และทำให้เลือดไหลเพิ่มขึ้น โปรดกลืนน้ำลาย
3.หากมีเลือดออกเพิ่มให้ใช้ผ้าก็อซสะอาดวางบริเวณแผล กัดเบาๆ ประมาณ 15 นาที
4.ในวันแรกควรทานยาแก้ปวดทุก 4-6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการปวด อาจใช้ความเย็นประคบเพื่อบรรเทาอาการปวดและบวมในสองวันแรก
5.ในวันแรกควรทานอาหารอ่อนหรือเหลว เพื่อป้องกันเศษอาหารเข้าไปติดแผล
6.ยาปฏิชีวนะสำหรับป้องกันการติดเชื้อ เพราะฉะนั้นต้องทานตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด การทานยาที่ไม่ต่อเนื่องอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
7. ควรใช้น้ำยาบ้วนปาก (ที่ให้ไป) กลั้ววันละ 2 ครั้ง เช้า - ค่ำ อมไว้ในปาก 1 นาที (ใช้ตามคำแนะนำข้างขวด ใช้จนกว่าน้ำยาจะหมด)
8.ให้แปรงฟันได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการกระแทกโดนบริเวณแผล
9.ในวันที่ 3 หลังผ่าตัด ให้อมน้ำเกลืออุ่นๆ บ้วนปากบ่อยๆ (เกลือ 1 ช้อนชาผสมน้ำอุ่น 1 แก้ว) 3-5 ครั้งต่อวัน จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
10.การบวมช้ำหรือมีจ้ำเขียว เป็นการตอบสนองตามปกติของร่างกาย แต่หากมีการบวมมากผิดปกติ ควรติดต่อพบทันตแพทย์
11.ในคืนแรกควรหนุนหมอนสูง (ใช้หมอน2 ใบ) เพื่อลดการบวมในบริเวณที่ผ่าตัด
12.ไม่ควรสูบบุหรี่ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

• สาระความรู้เกี่ยวกับข้อแนะนำการรักษาทางทันตกรรม
- การถอนฟัน
1. หลังถอนฟันให้กัดผ้าก๊อซให้แน่น 1 ชม. (1/2 ชม. ถ้าเป็นการถอนฟันน้ำนม) อย่าพูดหรือเคี้ยวผ้าก๊อซเล่น
2. หลังเอาผ้าก๊อซออก หากพบว่ายังมีเลือดออกจากแผลที่ถอนฟันให้วางผ้าก๊อซชิ้นใหม่ที่แผลถอนฟัน และกัดต่อให้แน่นอีก 1/2 ซ.ม.
3. ไม่บ้วนน้ำลายหรือกลั้วปากแรงๆ ภายใน 24 ช.ม. หลังถอนฟัน ควรแปรงฟันให้สะอาดหลังอาหาร และก่อนนอน โดยระวังอย่าให้โดนบริเวณแผล
4. ตลอดหนึ่งสัปดาห์หลังจากวันที่ถอนฟัน ให้อมน้ำเกลือบ้วนปากเบาๆ (ใช้เกลือป่น 1/2 ช้อนชาผสมน้ำอุ่น 1 แก้ว)
5. รับประทานยาตามที่ทันตแพทย์แนะนำ : - ยาแก้ปวด รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการปวด - ยาปฏิชีวนะ (เฉพาะบางราย) ต้องรับประทานให้ครบจนยาหมด

- ศัลยกรรมในช่องปาก
ในการผ่าตัดฟันคุด และศัลยกรรมในช่องปากอื่นๆ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อแนะนำหลังการถอนฟัน และมีข้อควรปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้
1. ในวันแรกหลังการผ่าตัด ควรประคบเย็นด้านนอกปาก บริเวณที่ใกล้แผลผ่าตัด โดยใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบ เพื่อช่วยลดอาการบวมที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรอมน้ำแข็ง
2. เริ่มประคบร้อนในวันที่ 2 โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น่จัดบิดให้หมาด อาการบวมจะลดลงเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์
3. งดการใช้งานของฟันด้านที่รับการผ่าตัดจนแผลหายดี งดการออกกำลังกายที่หักโหม และกีฬาทางน้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
4. สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารเผ็ด และร้อนจัด
5. กลับไปพบทันตแพทย์ตามที่นัดหมาย (ประมาณ 1-2 สัปดาห์) เพื่อตัดไหม และตรวจดูความเรียบร้อยของแผลผ่าตัด
6. ห้ามดื่มสุราของมึนเมา หรือรับประทานอาหารที่เผ็ดจัด หรือร้อนจัด
7. ถ้ามีอาการแพ้ยา (มีผื่นตามร่างกาย อาเจียน หายใจลำบาก) ให้หยุดยาทันทีแล้วนำยานั้นกลับมาพบทันตแพทย์โดยเร็ว

- การรักษารากฟัน
1. หลังการรักษารากฟัน อาจมีอาการปวดอยู่ 2-3 วัน ให้รับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการ
2. สัปดาห์แรกหลังการรักษา ควรรับประทานอาหารอ่อน หรือเคี้ยวอาหารโดยใช้ฟันข้างที่ไม่ได้รับการรักษา และงดการใช้ฟันที่รักษาเคี้ยวอาหารแข็ง จนกว่าการครอบฟัน หรืออุดฟันถาวรจะเสร็จสมบูรณ์
3. หากพบว่าอาการปวดไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา หรือมีอาการบวมเกิดขึ้น ควรปรึกษาทันตแพทย์ที่ให้การดูแล เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

- การขูดหินปูน และผ่าตัดเหงือก
1. หลังการขูดหินปูนภายใน 24 ช.ม. ไม่ควรบ้วนปากบ่อยๆ เพราะอาจทำให้เลือดออกตามไรฟันมากขึ้น
2. หลังการขูดหินปูน 2-3 วันแรก อาจมีอาการเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำเย็น หรือขณะแปรงฟัน และระบมที่เหงือกเล็กน้อย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร้อนหรือเย็นจัด
3. การแปรงฟันให้สะอาดร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันตามที่ทันตแพทย์แนะนำ จะช่วยลดอาการเสียวฟัน และอักเสบของเหงือกให้เป็นปกติได้เร็วขึ้น
4. หลังการผ่าตัดเหงือก ควรรับประทานอาหารอ่อน งดการใช้งานของฟันด้านที่รับการผ่าตัดจนแผลหายดี
5. งดการออกกำลังกายที่หักโหม และกีฬาทางน้ำซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
6. รับประทานยาตามที่ทันตแพทย์แนะนำ : - ยาแก้ปวด รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการปวด - ยาปฏิชีวนะ (เฉพาะบางราย) ต้องรับประทานให้ครบจนยาหมด - น้ำยาอมบ้วนปาก (เฉพาะบางราย) ใช้ตามคำแนะนำ
7. กลับไปพบทันตแพทย์ตามที่นัดหมาย (ประมาณ 1-2 สัปดาห์) เพื่อตัดไหม และตรวจดูความเรียบร้อยของแผลผ่าตัด

• สาระความรู้เกี่ยวกับการจัดฟัน
การจัดฟันคืออะไร การจัดฟัน (Orthodontic Treatment) เป็นการเคลื่อนฟันไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมโดยอาศัยเครื่องมือบางชนิดทั้งแบบติดแน่นกับฟันหรือถอดได้ นอกจากฟันยังรวมไปถึงการแก้ไขการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของขากรรไกรเพื่อให้เกิดความสวยงามและการทำหน้าที่ขบเคี้ยวอย่างถูกต้อง

ข้อดีของการจัดฟัน

1. การจัดฟันจะทำให้ฟันเรียงตัวกันเป็นระเบียบทำให้บดเคี้ยวอาหารได้ดียิ่งขึ้น
2. การทำความสะอาดฟัน หลังการจัดฟันทำได้สะดวกขึ้นและลดอาการสึกกร่อนของฟันที่สบฟันไม่ถูกต้อง
3. เสริมสร้างบุคลิคภาพ และความสวยงานของใบหน้า
4. ลดความจำเป็นในการใส่ฟันในบางกรณี

ข้อเสียของการจัดฟัน
1. ขณะที่จัดฟันมีเครื่องมืออยู่ในปากจะมีแนวโน้มในการเกิดฟันผุ และเหงือกอักเสบง่าย
2. อาการเจ็บฟันขณะที่กำลังเคลื่อนฟันกรามได้เกือบทุกคนที่จัดฟัน
3. อาจมีอาการปวดข้อต่อขากรรไกร รากฟันละลายหรือฟันตายในระหว่างการจัดฟันแม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก
4. ใช้ระยะเวลานาน ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ข้อควรปฏิบัติในการจัดฟัน
1. รักษาความสะอาดช่องปากให้ดีทีสุด โดยการแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร และใช้แปรงซอกฟันทำความสะอาดบริเวณซอกฟันและเหล็กจัดฟัน (Bracket) เพื่อไม่ให้มีคราบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดฟันผุหรือเหงือกอักเสบหลงเหลืออยู่
2. หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดดังนี้ อาหารแข็งมาก เช่น ถั่ว, กระดูก, น้ำแข็ง, เนื่องจากทำให้เหล็กจัดฟันหรือลวดจัดฟันหลุดออกมาจากตัวฟัน อาหารเหนียวมาก เช่น หมากฝรั่ง, ผลไม้กวน เนื่องจากทำความสะอาดฟันได้ลำบาก
3. ให้ความร่วมมือกับทันตแพทย์ โดยการมาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และในการใช้เครื่องมือชนิดถอดได้หรือใช้ยางดึงฟันต้องทำตามทันตแพทย์บอกโดยเคร่งครัด
4. ขี้ผึ้งจัดฟัน ใช้สำหรับลดการเสียดสีจากการเป็นแผลในช่องปาก ใช้ปั้นเป็นก้อนขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวติดไว้ที่เหล็กจัดฟันบริเวณที่เสียดสีกับแผล

คำแนะนำหลังจากถอดเครื่องมือจัดฟัน

สาเหตุที่ต้องใส่รีเทนเนอร์
หลังจากเครื่องมือจัดฟันแล้ว คนไข้จะได้รับเครื่องมือที่เรียกว่า รีเทนเนอร์ (retainer) ซึ่งจะคงสภาพฟันที่จัดแล้วให้เรียงตัวให้คงสภาพสวยตลอดไป

ระยะเวลาในการใส่รีเทนเนอร์
ใส่ตามคำแนะนำของทันตแพทย์จัดฟันของท่าน โดยส่วนใหญ่แล้วในปีแรกหลังจากถอดเครื่องมือควรใส่รีเทนเนอร์ตลอดเวลา ถอดเฉพาะเวลารับประทานอาหารและแปรงฟันเท่านั้น หลังจากนั้นทันตแพทย์จะแนะนำอีกครั้งว่าควรใส่รีเทนเนอร์อีกนานเท่าใด

วิธีเก็บรักษารีเทนเนอร์

ควรเก็บรีเทนเนอร์ไว้ในกล่องพลาสติกที่สามารถพกพาได้สะดวก ไม่ควรห่อด้วยกระดาษทิชชู เพราะอาจสูญหายได้ และอาจทำให้รีเทนเนอร์รูปร่างเปลี่ยนได้

เนื่องจากก่อนจัดฟัน ฟันเคยซ้อน เก ห่าง หรือยื่นมาก่อน หลังจากจัดฟันเสร็จตำแหน่งของฟันนั้นได้เปลี่ยนไปจากเดิมตั้งแต่เกิด จึงจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาให้ฟันได้ปรับตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งใหม่หลังการจัดฟัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ฟันกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมก่อนการจัดฟัน เช่น แรงจากการบดเคี้ยวและกัดอาหาร เมื่อมีแรงมากระทำต่อตัวฟันหรือแรงดุนจากลิ้น ฟันก็สามารถเคลื่อนกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมก่อนการจัดฟันได้ การใส่รีเทนเนอร์จะช่วยประคองฟันไว้ไม่ให้เคลื่อนจากตำแหน่งที่ได้จัดฟันไว้เรียบร้อยแล้ว

การทำความสะอาดรีเทนเนอร์

ควรแปรงรีเทนเนอร์ด้วยแปรงสีฟันกับน้ำยาล้างจาน หรือแช่ในน้ำที่มีเม็ดฟู่ทำความสะอาดรีเทนเนอร์

ถ้ารีเทนเนอร์ชำรุดหรือสูญหาย

ควรรีบติดต่อทันตแพทย์จัดฟันของท่านเพื่อทำรีเทนเนอร์ใหม่ทันที การไม่ใส่รีเทนเนอร์นานๆ จะมีผลให้ฟันกลับไปสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนจัดฟันได้

• สาระความรู้เกี่ยวกับการทำรากฟันเทียม
รากเทียมคืออะไร
ทันตกรรมรากเทียม (Dental Implant) คือวิทยาการที่คิดค้นขึ้นเพื่อทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติ โดยจะฝังวัสดุที่มีรูปร่างคล้ายรากฟันลงบนกระดูกขากรรไกร เพื่อช่วยให้ฟันปลอมภายในช่องปากทั้งชนิดถอดได้และ ชนิดติดแน่นยึดเกาะได้ดี โดยอาจใช้ รากเทียม เพื่อการใส่ฟันปลอม 1 ซี่หรือมากกว่านั้น ในบางกรณีการใส่ฟันปลอมทั้งปากก็อาจใช้ รากเทียม เพียงอย่างเดียวได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ใช้ในการยึดเกาะของฟันปลอมแต่ละซี่

การปลูกรากฟันเทียมเป็นวิธีการสมัยใหม่ในการแทนที่รากฟันจริงตามธรรมชาติ โดยทันตแพทย์จะทำการฝังรากฟันเทียมลงบนกระดูกรองรับฟัน ซึ่งจะสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้แก่ฟันที่ใช้ทดแทนฟันที่สูญเสียไป (อาจเป็นครอบฟันสะพานฟัน หรือแผงฟันปลอมแบบถอดออกได้) โดยรากฟันเทียมที่ใช้ผลิตจากวัสดุไทททาเนียมที่ได้รับการวิจัยว่าไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกายมนุษย์ หรือผลข้างเคียงใดๆ

ข้อดีของทันตกรรมรากเทียม

- ยิ้มด้วยความมั่นใจ
- รับประทานอาหารได้ทุกชนิดที่คุณชื่นชอบ
- พูดจาชัดถ้อยชัคคำเป็นธรรมชาติ
- เพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว ทำให้อาหารย่อยได้ดีขึ้น
- บูรณะโครงสร้างของใบหน้าให้เกิดความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
- สร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น
- เชื่อมั่นในตนเองและทำให้มีบุคลิกภาพที่ดี

คำแนะนำหลังผ่าตัดปลูกรากเทียม
1.ไม่ควรรบกวนบริเวณแผล หลีกเลี่ยงการแตะแผลด้วยลิ้น , นิ้ว , ผ้าเช็ดหน้าต่างๆ หรือ อื่นๆ
2.ห้ามถ่มน้ำลาย, เลือด หรือบ้วนน้ำ เนื่องจากแผลอาจขยับ และทำให้เลือดไหลเพิ่มขึ้น โปรดกลืนน้ำลาย
3.หากมีเลือดออกเพิ่มให้ใช้ผ้าก็อซสะอาดวางบริเวณแผล กัดเบาๆ ประมาณ 15 นาที
4.ในวันแรกควรทานยาแก้ปวดทุก 4-6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการปวด อาจใช้ความเย็นประคบเพื่อบรรเทาอาการปวดและบวมในวันแรก
5.ในวันแรกควรทานอาหารเหลว เพื่อป้องกันเศษอาหารเข้าไปติดแผล ในอาทิตย์แรกควรทานอาหารอ่อน และเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ หากรับประทานอาหารได้น้อยควรทานอาหารเสริม หรือไวตามินเพิ่ม ใน 1-2 อาทิตย์แรกห้ามเคี้ยวอาหาร หรือมีแรงกดในบริเวณที่ฝั่งรากเทียม
6.ไม่ควรใส่ฟันปลอม หรือหากจำเป็น ฟันปลอมจะต้องได้รับการปรับแต่งเพื่อลดแรงกดที่แผล แรงกดจากการบดเคี้ยวหรือจากฐานฟันปลอม อาจทำให้แผลแยก การหายของแผลช้าลง หรือส่งผลให้รากเทียมที่ปลูกไว้หลุดได้
7.ยาปฎิชีวนะให้เพื่อการป้องกันการติดเชื้อในระยะแรก เพราะฉะนั้นยาที่ได้รับไป ต้องทานตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด การทานยาที่ไม่ต่อเนื่องอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
8.การรักษาความสะอาด สำคัญมากต่อการหายของแผล
- ควรใช้น้ำยาบ้วนปาก (ที่ให้ไป) บ้วนวันละ 2 ครั้ง เช้า - ค่ำ อมไว้ในปาก 1 นาที (ใช้ตามคำแนะนำข้างขวด ใช้จนกว่าน้ำยาจะหมด)
- ให้แปรงฟันได้ตามปกติ แตกควรหลีกเลี่ยงการกระแทกโดนบริเวณแผล
- ในวันที่ 3 หลังผ่าตัด ให้อมน้ำเกลืออุ่นๆ บ้วนปากบ่อยๆ (เกลือ 1 ช้อนชาผสมน้ำอุ่น 1 ลิตร) 3-5 ครั้งต่อวัน จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
9.การบวมช้ำหรือมีจ้ำเขียว เป็นการตอบสนองตามปกติของร่างกาย แต่หากมีการบวมมากผิดปกติ ควรติดต่อพบทันตแพทย์
10.ไม่ควรสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
11.ในคืนแรกควรหนุนหมอนสูง (ใช้หมอน2 ใบ) เพื่อลดการบวมในบริเวณที่ผ่าตัด


 

 
OUR TREATMENT


» ทันตกรรมทั่วไป

» ทันตกรรมจัดฟัน
» ทันตกรรมรากฟันเทียม
» ทันตกรรมเพื่อความงาม
» ทันตกรรมโรคเหงือก
» ทันตกรรมป้องกัน
» ศัลยกรรมช่องปาก

   

 

Copyright 2011 © Ekamai Dental Clinic. All Rights Reserved. Designed by khaijeaw.com
คลินิกทำฟัน คลีนิคจัดฟัน ทำฟัน ดัดฟัน อุดฟัน ฟอกสีฟัน ครอบฟัน รากฟันเทียม ผู้นำในด้านทันตกรรมจัดฟัน ทีมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จัดฟัน ดัดฟัน ครอบฟัน รากฟันเทียม