ทันตกรรมปริทันต์
โรคปริทันต์
โรคปริทันต์ (Periodontal Disease) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า โรคเหงือกอักเสบ แต่จริงๆแล้ว โรคปริทันต์ มิได้มีการอักเสบเกิดขึ้นแค่ที่เหงือกเท่านั้น แต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับอวัยวะรอบ ๆ ฟัน อันได้แก่ เหงือก กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดปริทันต์ และ ผิวรากฟัน
โรคเหงือกอักเสบ Gingivitis
โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) เป็นอาการอักเสบของเหงือกซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ ผลข้างเคียงของการรับประทานยาบางชนิด และการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เป็นต้น
โรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ Periodontitis
โรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ (Periodontitis) หรือ โรคปริทันต์อักเสบ มักก่อให้เกิดการละลายของรากฟัน เป็นสาเหตุของอาการฟันโยกและอาจต้องถอนฟันทิ้งไปในที่สุด และยังเป็นสาเหตุของกลิ่นปากอีกด้วย
สาเหตุของโรคปริทันต์
สาเหตุเบื้องต้น คือ เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่มีอยู่ในช่องปากซึ่งเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นในสภาวะที่เหมาะสม กล่าวคือการมีคราบอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่เกาะบนผิวฟัน และจากการทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ ทำให้คราบอาหารเหล่านี้กลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นแพร่กระจายไปบนผิวฟัน ที่เราเรียกกันว่า “ แผ่นคราบจุลินทรีย์ ”
แบคทีเรียพวกนี้เมื่อมีการบริโภคอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเข้าไปจะปล่อยกรดและสารพิษออกมาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ผลคือทำให้เหงือกบวมแดงอักเสบและมีเลือดออก ทำให้เกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ แผ่นคราบจุลินทรีย์ไม่เพียงแต่จะมีแค่ส่วนตัวฟันที่อยู่เหนือขอบเหงือกเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในส่วนใต้ขอบเหงือกที่เรามองไม่เห็น ส่วนนี้เองที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ลงสู่กระดูกเบ้าฟัน ผลคือทำให้กระดูกเบ้าฟันละลาย ทำให้ร่องเหงือกลึกลงไปเรื่อยๆ ทำให้ฟันไม่ยึดติดกับเหงือกและก่อให้เกิดหนองในร่องปริทันต์ ทำให้รู้สึกเจ็บเหงือกและอาจมีอาการปวดเมื่อเคาะที่ตัวฟันและฟันโยกได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้เหงือกและกระดูกเบ้าฟันจะถูกทำลายลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็อาจจะต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไป เนื่องจากสูญเสียอวัยวะรอบฟันที่ช่วยในการยึดเกาะฟันไว้กับกระดูกขากรรไกร
อธิบายอีกนัยหนึ่ง คือ คราบเชื้อโรคเมื่อเกาะบนผิวฟันนาน ๆ กลายเป็น คราบหินปูน เมื่อมีคราบหินปูนก็เป็นที่สะสมของคราบเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น เมื่อคราบหินปูนและแบคทีเรียสะสมมากขึ้นและนานขึ้นจะเพิ่มปริมาณลึกลงไปใต้ขอบเหงือก ทำให้การอักเสบลุกลามลงไปยังอวัยวะปริทันต์ทั้งหมด จึงเกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ตามมา
อาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคปริทันต์
1. มีเลือดออกตามไรฟันขณะแปรงฟัน
2. เหงือกบวมแดง
3. มีกลิ่นปาก
4. เหงือกร่น
5. อาจมีหนองออกตามร่องเหงือก
6. ฟันโยก
การรักษาโรคเหงือกควรจะรีบทำการรักษาในทันทีที่มีการตรวจพบว่าเป็นโรคเหงือก เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น หากพบอาการของโรคเหงือก ควรจะเข้าพบทันตแพทย์ หรือทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อที่จะทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะหากปล่อยไว้ โรคเหงือก จะทำให้สูญเสียฟันได้
ขั้นตอนการรักษาโรคเหงือก
เมื่อทราบสาเหตุแล้วว่า โรคปริทันต์เกี่ยวข้องกับการสะสมของคราบหินปูน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การรักษาจะต้องทำการขูดหินปูน (scaling) และเกลารากฟัน (root planing) ร่วมด้วย คำว่า “ เกลารากฟัน ” นี้อาจจะเป็นศัพท์ใหม่ที่คนทั่วไปไม่ค่อยคุ้นเคย มีความหมายว่า ทำผิวรากฟันให้เรียบ (เกลา = ทำให้เรียบ) คือการกำจัดคราบหินปูนและคราบเชื้อโรคที่เกาะบนรากฟันให้หมดจนได้ผิวรากฟันที่เรียบช่วยให้เหงือกกลับมายึดติดได้ดีขึ้นและแน่นขึ้น
สรุปขั้นตอนการรักษา
1. การรักษาจะต้องทำการขูดหินปูนและเกลารากฟันร่วมด้วย โดยจะขูดหินปูนทั้งบนตัวฟันและส่วนที่อยู่บนผิวรากฟันภายในร่องปริทันต์ ส่วนการเกลารากฟันคือการทำให้ผิวรากฟันเรียบเพื่อให้เนื้อเยื่อเหงือกสามารถกลับมายึดแน่นติดกับผิวฟันได้เหมือนเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
2. หลังจากรักษาตามข้อ 1 เสร็จแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดท่านให้กลับมาตรวจดูอาการอีกครั้งหนึ่งว่า หายดีหรือไม่ ถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่หรือมีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดเหงือก (ศัลยกรรมปริทันต์ : periodontal surgery) ร่วมด้วย
3. ท่านจะต้องทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอด้วยตนเอง อย่างน้อยจะต้องใช้แปรงและไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ให้หมดทุกวัน
4. ท่านควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจดูว่ามีคราบจุลินทรีย์และหินปูนหลงเหลือจากการทำความสะอาดเองหรือไม่ เพื่อที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่แรกที่ตรวจพบ
ในคนไข้ที่เป็นโรคเหงือกอย่างมากก็อาจจำเป็นต้องพบทันตแพทย์เฉพาะทางให้ทำการรักษาและเกลารากฟันอย่างหมดจด เพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่เกาะติดแน่นบริเวณตัวฟันและผิวรากฟัน การขูดเหงือกเป็นการกำจัดเนื้อเยื่อที่อักเสบติดเชื้อในช่องเหงือก การขูดหินปูน และการขูดเหงือกจึงเป็นการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเพียงพอต่อการควบคุมโรค แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการดูแลเอาใจใส่สุขภาพช่องปากของคนไข้เองด้วย
สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคเหงือกอย่างรุนแรง การขูดหินปูนและการเกลารากฟันรวมทั้งการขูดเหงือกอาจใช้ไม่ได้ผล ซึ่งในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด ซึ่งระหว่างการผ่าตัดนี้ แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะทำการยกเหงือกเพื่อที่จะดูว่าการอักเสบติดเชื้อได้ลุกลามไปที่รากฟันหรือกระดูกขากรรไกรหรือแผ่ขยายไปยังส่วนอื่นหรือไม่ แล้วจึงเริ่มให้การรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ กำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนออกจากบริเวณรากฟันและจากกระดูกขากรรไกร จากนั้นนำเหงือกกลับเข้าสู่ตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการทำความสะอาดภายหลังการรักษา
เมื่อทำการเปิดเหงือกแล้วพบว่ามีการสูญเสียกระดูกบางส่วนไป คนไข้อาจต้องรักษาโดยการปลูกกระดูก ซึ่งการปลูกกระดูกนี้เป็นการสร้างกระดูกจากไขกระดูกในปากของเราเอง หรือจากกระดูกเทียม ซึ่งในขั้นตอนนี้ทันตแพทย์จะทำการนัดคนไข้ประมาณ 2-3 ครั้ง แต่ในบางกรณีก็สามารถทำเสร็จได้ภายในครั้งเดียวในโรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีอุปกรณ์ครบครัน
เมื่อพบว่าเหงือกมีเลือดออกและเจ็บเล็กน้อยเวลาแปรงฟัน อาจจะเป็นอาการเบื้องต้นของโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งเกิดจากการมีเศษอาหารและเชื้อโรคสะสมอยู่บริเวณเหงือกและคอฟัน ทำให้เกิดอาการอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดหนองและลุกลามติดเชื้อสู่รากฟันได้ แนวทางป้องกันเสียแต่เนินๆ คือ การแปรงฟัน ให้สะอาดและใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันอย่างสม่ำเสมอ โรคปริทันต์สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ถ้าดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี ดังนั้นจึงต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีอย่างสม่ำเสมอด้วยการแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคเหงือก คือการใส่ใจดูแลรักษาตั้งแต่อยู่ที่บ้าน ซึ่งรวมถึงการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน การบ้วนปาก และการนวดเหงือก สุดท้าย คือรักษาสุขภาพปากและฟันให้สะอาดปราศจากเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาฟันโยกคลอน
การที่ฟันโยกคลอนไม่ได้หมายถึงต้องเป็นโรคเหงือกทุกรายไป แต่ถ้าคุณกดไปที่ตัวฟันแล้วฟันจมเข้าไปในเหงือก อาจจะมีสาเหตุมาจากโรคเหงือก หากเป็นโรคเหงือกไม่มากแล้วฟันมีอาการโยกคลอนอย่างรุนแรงทันตแพทย์จะทำการรักษาการลุกลามที่ปัญหาก่อน
หากฟันของคุณมีการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ทันตแพทย์จะแนะนำให้ทำการยึดฟัน ซึ่งการยึดฟันไว้ด้วยกันด้วยแผ่นพลาสติกหรือเครื่องมือที่คล้ายคลึงกัน เพื่อเป็นการช่วยรับแรงดันจากการบดเคี้ยวระหว่างที่เหงือกและฟันทำการรักษาอยู่ สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวที่ทันตแพทย์อาจแนะนำ ได้แก่ การใส่ Crown Splint หรือ Crown Linked
ในกรณีที่มีการสูญเสียกระดูกอย่างมาก การปลูกกระดูกอาจไม่สามารถกระทำได้ในทุกราย จึงอาจจะทำการรักษาโดยการยึดฟันไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยเพิ่มให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวเพื่อให้ฟันมีเสถียรภาพ หากวิธีนี้ประสบความสำเร็จอาจทำ Crowns linked ใส่แทนที่ฟันที่โยกคลอน การแก้ปัญหานี้เป็นการรักษาฟันซี่อื่น ๆ ให้สามารถคงอยู่ได้ต่อไป
การรักษาสำหรับการสูญเสียเหงือก
เนื้อเยื่อของเหงือกสามารถสูญเสียได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งรวมถึงโรคเหงือก การอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง เป็นแผล หรือการถอนฟัน ในหลาย ๆ กรณีที่เหงือกถอยร่นไปมักจะสร้างปัญหาด้านความสวยงาม การปลูกเนื้อเยื่อเหงือกเป็นการแก้ไขความผิดปกติและเป็นการป้องกันก่อนที่จะมีการอักเสบติดเชื้อลุกลามไปมากกว่านี้
หากมีการสูญเสียเหงือกรุนแรง อาจจะนำวิธีการนำเหงือกเทียมถอดได้มาใช้ ซึ่งเหงือกเทียมนี้ทำมาจากพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นอย่างดี นำมาปรับให้ได้รูปที่เหมาะสมและสอดคล้องกับตัวฟัน และคลุมช่องว่างระหว่างฟัน ซึ่งจะต้องทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
Full Crowning หรือการเคลือบฟัน เป็นวิธีการรักษาอีกวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้เพื่อปกปิดเนื้อเยื่อที่สูญเสียไป แต่โดยปกติไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ หากฟันต้องการทำให้ดีดังเดิม ทางที่เป็นไปได้ใช้ composite resin ในการสร้างเนื้อฟันและปิดช่องว่าง ปกตินิยมรักษาด้วยวิธีนี้กัน เพราะเป็นการลดค่าใช้จ่าย และกรอเนื้อฟันออกเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การทำอย่างนี้ต้องทำซ้ำเมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปีและอาจไวต่อการเกิดคราบที่เกาะติดบนผิวฟัน
การรักษาหงือกร่น
เหงือกร่นเป็นต้นเหตุของโรคเหงือกและเป็นปัญหาด้านความสวยงามด้วยเช่นกัน ถ้าคุณยิ้มแล้วเห็นเหงือก โดยเฉพาะหากคุณมีครอบฟัน (Crowns) หากเหงือกร่นจะทำให้เห็นตัวฟันที่แท้จริงที่ไม่ได้ปิดบังไว้ ซึ่งรากฟันโดยปกตินั้นจะมีสีคล้ำกว่าตัวครอบฟัน หรืออาจพบว่าขอบของวัสดุหรือ Porcelain เผยออกมาให้เห็น แม้ว่าครอบฟันนั้นจะสามารถทำได้เหมือนฟันธรรมชาติมากก็ตาม
เมื่อเหงือกร่นแล้ว โดยปกติเหงือกจะไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิม ทันตแพทย์อาจแนะนำ ให้ทำการผ่าตัดตกแต่งฟัน ถึงแม้จะนำเนื้อเยื่อมาแทนที่ระหว่างฟันนั้นแล้วก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ทันตแพทย์จะสามารถปกปิดฟันซี่นั้นได้ทั้งหมด
การปกปิดทำได้โดยการย้ายบางส่วนของครอบฟันและรากแล้วทำการยึดช่องว่างด้วย Composite Resin เพื่อปิดบังขอบของโลหะ หรือการเปิดราก อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่จะรักษาความสวยงามนี้ไว้ได้ ซึ่งมีทางเลือกที่ดีกว่า คือการทำให้สีของโลหะค่อย ๆ จางลง หรือปกปิดด้วย Composite ที่มีสีเข้มกว่า ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดก็ตาม ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการทำครอบฟันใหม่มาแทนที่
วิธีที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเหงือกร่น ก็คือการรักษาสุขอนามัยภายในช่องปาก และให้ทัตแพทย์ทำความสะอาดให้ปีละ 3-4 ครั้ง เช่นเดียวกัน การทำความสะอาดทันทีภายหลังจากใส่ครอบฟัน แม้แต่เนื้อเยื่ออักเสบบวม หากมีแบคทีเรียสะสมรอบ ๆ เหงือกจะมีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและทำให้เหงือกร่นได้
วิธีการรักษาโรคเหงือกจึงประกอบด้วย
-การเกลารากฟันและขูดหินปูน
การเกลารากฟันและขูดหินปูน เป็นวิธีเบื้องต้นในรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ
- ศัลยกรรมตกแต่งเหงือกเพื่อความสวยงาม
การผ่าตัดเพื่อตกแต่งเหงือก โดยทั่วไปมักทำเพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่รอยยิ้ม
- ศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก
การปลูกถ่ายเหงือกเป็นวิธีการแก้ปัญหาเหงือกร่น โดยวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณและความหนาของเหงือกในบริเวณที่เหงือกร่น
- ศัลยกรรมเหงือกเพื่อเพิ่มความยาวของฟัน
การผ่าตัดเหงือกเพื่อเพิ่มความยาวของฟัน โดยปกติจะทำกับฟันหน้า เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับฟันที่ผ่านการทำครอบฟันหรือเคลือบผิวฟันเพื่อความสวยงาม
|